ช่วงฤดูฝนสภาพอากาศมักมีความชื้นสูง ซึ่งเชื้อสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคพืชมากที่สุดคือเชื้อรา เพราะสปอร์เชื้อราสามารถแพร่กระจายได้ด้วยลมและน้ำฝน ส่งผลให้ในช่วงฤดูฝนมีโอกาสในการเกิดโรคพืชเพิ่มมากขึ้น 5 โรคพืชสุดฮิตที่มักระบาดในช่วงหน้าฝน จากเว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
ราน้ำค้าง เกิดจากเชื้อรา Peronosporaparasitica ลักษณะอาการที่สังเกตได้ มีจุดละเอียดสีดำรวมกลุ่มเล็ก ๆ บริเวณใต้ใบ และมีราสีขาวอมเทาอ่อนคล้ายผงแป้งขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ กระจายทั่วไป มักเกิดในใบที่อยู่ด้านล่างก่อน แล้วลุกลามขึ้นไปยังใบที่อยู่สูงกว่า ใบที่มีเชื้อราขึ้นกระจายเต็มใบมักมีสีเหลืองและใบจะร่วง หรือแห้ง
การระบาดของราน้ำค้างสามารถระบาดได้ตั้งแต่ระยะที่เป็นต้นกล้าจนถึงระยะเจริญเติบโตเต็มที่ โรคนี้จะสร้างความเสียหายที่บริเวณส่วนใบของพืชส่งผลให้พืชมีการเจริญเติบโตช้า ทำให้มีผลผลิตที่ได้ลดลง และน้ำหนักพืชลดลง
เกษตรกรสามารถใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันและกำจัดโรคพืชดังกล่าว โดยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสลับกับบีเอส ซึ่งสามารถใช้ได้ตั้งแต่ระยะต้นกล้าจนถึงระยะเติบโต และสามารถใช้การฉีดพ่นด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไซแน็บ, มาแน็บ, ไดโฟลาแทน, เบนโนมิล, แคปแทน หรือยาชนิดอื่นๆ ที่มีสารทองแดงเป็นองค์ประกอบ โดยยาป้องกันกำจัดเชื้อราที่มีสารประกอบทองแดงไม่ควรใช้ในระยะต้นกล้า เพราะเป็นพิษกับต้นกล้า
โรคเน่าคอดิน เกิดจากเชื้อรา Pythium sp. หรือ Phytophthora sp. โรคดังกล่าวมักเกิดในแปลงต้นกล้า ซึ่งเกิดจากการที่หว่านเมล็ดแน่นจนเกินไป ต้นเบียดกัน หากในแปลงมีเชื้อโรคอยู่แล้ว ต้นกล้าจะเกิดแผลช้ำที่โคนต้นระดับดิน เมื่อถูกแสงแดดจะทำให้ต้นกล้าหักพับลงมา เหี่ยวตายในเวลาอันรวดเร็ว
เชื้อราดังกล่าวมักติดมากับเมล็ด หรือมีอยู่ในดิน น้ำ และฝน โดยเกษตรกรสามารถป้องกันโรคพืชดังกล่าวด้วยวิธีการจัดการแปลงที่ดี คือ การเตรียมแปลงปลูกให้สามารถระบายน้ำได้ดี ป้องกันไม่ให้เกิดน้ำขังภายในแปลง ปรับสภาพดินด้วยปูนขาว ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมกับดินภายในแปลง ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ และไม่หว่านเมล็ดแน่นจนเกินไป ก่อนปลูกคลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ และตรวจแปลงสม่ำเสมอ หากพบต้นที่เป็นโรคให้กำจัดทิ้งภายนอกแปลงโดยทันที
โรคใบจุดเกิดจากเชื้อรา Alternaria brassicae ลักษณะอาการที่พบ หากเป็นต้นกล้าจะมีแผลเล็ก ๆ สีน้ำตาลบริเวณใบที่โคนต้น หากพบในพืชที่โตแล้ว ใบจะมีแผลวงกลมสีน้ำตาลซ้อนกันหลายชั้น เนื้อเยื่อรอบแผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ขนาดแผลมีทั้งเล็กและใหญ่ และมักจะพบเชื้อราที่มีลักษณะเป็นผงสีดำอยู่บนแผลแบบบาง ๆ
สปอร์ของเชื้อสาเหตุสามารถแพร่กระจายได้ด้วยลม น้ำ แมลง และมนุษย์เป็นตัวพา อีกทั้งยังสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ และวัชพืชในแปลงที่เกิดโรคดังกล่าว ฉะนั้น หากพบต้นที่เป็นโรคให้ทำลายต้นนั้นโดยทันทีด้วยวิธีการขุนถอนและเผาทิ้ง และไม่ควรให้น้ำแบบฉีดฝอยในแปลงเพื่อลดการกระจายของเชื้อรา นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถป้องกันการเกิดโรคพืชดังกล่าวได้ โดยเริ่มจากการแช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส ประมาณ 30 นาที คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดเชื้อราไตรโคเดอร์มา และฉีดพ่นชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดเชื้อราไตรโคเดอร์มาในแปลงผักทุก 7 วัน จะช่วยป้องกันและกำจัดเชื้อรานี้ได้
โรคราสนิมขาวในผัก เกิดจากเชื้อรา Albugo ipomoea-aquaticae Sawada พืชที่เกิดโรคจะมีจุดสีเหลืองซีดบริเวณด้านบนของใบ และใต้ใบตรงกันข้ามที่เกิดจุดสีจะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ ขนาด 1-2 มิลลิเมตร ซึ่งอาจพบลักษณะเป็นปุ่มปม หรือบวมพองโตในส่วนของก้านและลำต้น
หากในแปลงผักเกษตรกรพบโรคพืชดังกล่าวให้ฉีดพ่นใต้ใบด้วยเมตาแล็กซิลสลับกับแมนโคเซ็บ และหากช่วงดังกล่าวมีฝนชุกให้ผสมสารจับใบเข้าไปด้วย นอกจากนี้ควรดูแลระบบการให้น้ำในแปลงปลูกอย่างให้ชื้นแฉะจนเกินไป และควรเลือกเมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรคพืช
โรคเหี่ยว (wilt)
โรคเหี่ยว เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum พืชที่เกิดโรคจะมีอาการเหี่ยวอย่างช้า ๆ โดยเริ่มจากใบที่อยู่บริเวณโคนต้นจะมีสีเหลืองและร่วง ต่อมาใบพืชจะเหี่ยวทั้งต้นและตายลงในที่สุด อีกทั้งเมื่อผ่ากลางลำต้นจะพบว่าท่อลำเลียงอาหารเป็นสีน้ำตาล ซึ่งความผิดปกตินี้จะส่งผลไปถึงส่วนรากด้วย
วิธีการป้องกันเกษตรกรต้องหมั่นตรวจแปลงเป็นประจำ หากพบต้นที่เป็นโรคให้นำออกไปทำลายนอกแปลงทันที หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่เคยเกิดการระบาดของโรคมาก่อนหน้านี้ หรือเลือกวิธีปลูกพืชหมุนเวียน เตรียมแปลงให้มีการระบายน้ำได้ดี ไม่ปลูกพืชหนาแน่นจนเกินไป ใช้ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน หรือใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคพืชเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคพืชดังกล่าวภายในแปลง
ช่วงฤดูฝนเป็นฤดูกาลที่เกษตรกรต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าดูแลพืชยากมาก เพราะนอกจากสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกทำให้อากาศมีความชื้นสูง ส่งผลให้เกิดโรคพืชต่าง ๆ ตามมาแล้ว การปลูกพืชกลางแจ้งยังเพิ่มโอกาสให้พืชเกิดความเสียหายจากฝนที่ตกลงมาอีกด้วย ฉะนั้น การจัดการแปลงที่ดี และวิธีการปลูกพืชในโรงเรือนจะช่วยลดความเสียหาย และเพิ่มโอกาสให้พืชเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย ในทางกลับกันราคาพืชผลทางการเกษตรในช่วงหน้าฝนมักมีราคาสูง หากเกษตรกรสามารถสร้างผลผลิตจำนวนมากในช่วงฤดูฝนก็สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำเช่นกัน